Author Topic: การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น พ่อแม่เลิกคาดหวังครูแก้ปัญหาได้แล้ว ?  (Read 13266 times)

ครูประสิทธิ์

  • Administrator
  • Full Member
  • *****
  • Posts: 128
    • View Profile
การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น พ่อแม่เลิกคาดหวังครูแก้ปัญหาได้แล้ว ?


ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอารืไอ)
กระแสข่าว "การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" ค่อนข้างมาแรงในระยะนี้ จนอาจทำให้คนทั่วไปคิดว่ามันเพิ่งเป็นปัญหาสำหรับสังคมไทย แต่ที่จริงแล้วแนวโน้มของการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นนั้นเพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ.2544

เด็กไทยที่เข้าสู่วัยรุ่นในช่วงปี พ.ศ.2542 ถึง 2552 เป็นเด็กที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2529-2533 เป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยเติบโตมากที่สุดคือ ประมาณ 10% ต่อปี สูงที่สุดนับตั้งแต่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วัยรุ่นเหล่านี้เกิดในยุคเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวของพ่อแม่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เงินเป็นตัวนำในการสร้างครอบครัว เด็กของพ่อแม่เหล่านี้เป็นผู้ทำสถิติใหม่ของการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ปัญหาการตั้งครรภ์ของเด็กวัยเรียนเป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นมา โดยมีเด็กเป็นสื่อในการสะท้อนปัญหา

การใช้เงินเป็นหลักในการสร้างครอบครัว (ต้องมีวัตถุอุปกรณ์โน่นนี่ให้ลูกพร้อมเพรียง) ทำให้พ่อแม่สร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ให้แก่ลูก สิ่งแวดล้อมที่ประหยัดเวลาของพ่อแม่เพื่อหาเงินมาซื้อสิ่งของต่างๆ ในที่สุดเด็กจึงนั่งมองทีวีมากกว่าการพูดคุยกับพ่อแม่

พ่อแม่อาจจะคาดหวังว่า ตนได้ส่งลูกไปโรงเรียน ก็น่าจะเป็นหน้าที่ของครูในการอบรมสั่งสอนลูก

ด้วย ภาวะการเรียนการสอนแบบปัจจุบัน พ่อแม่คาดหวังเช่นนี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะที่โรงเรียนนั้นครูมีแต่ความวุ่นวายหาเงินสร้างครอบครัวเช่นกัน ต้องวิ่งเต้นเพื่อทำผลงานขยับวิทยฐานะของตนให้สูงขึ้น แม้แต่ในโรงเรียนประจำจังหวัดที่มีชื่อเสียงนั้น มีเด็กห้องคิงห้องเดียวเท่านั้นที่ได้เรียนหนังสือครบตามหลักสูตร เพราะเป็นหน้าตาที่จะทำชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน เด็กห้องอื่นๆ นั่งคุย เล่น หลับ เล่นเกม อ่านนิยาย หนีเรียน และอื่นๆ ตามอัธยาศัยของเด็ก เด็กได้ใช้เวลาเรียนจริงๆ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเวลาที่อยู่ที่โรงเรียน ถ้าใครอยากได้ความรู้ก็ต้องหาเงินไปเรียนกวดวิชาตอนเย็นหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เอาเอง

พอครูไม่สอนหนังสือ เด็กก็ออกมาเพ่นพ่านนอกโรงเรียน แรกเริ่มก็จับกลุ่มใหญ่ๆ ไปสุมหัวสนุกสนานที่บ้านเพื่อน การมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยเป็นเรื่องปกติ สุมหัวบ่อยๆ เข้าก็เริ่มแบ่งเป็นกลุ่มย่อยเป็นคู่ๆ ต้องเข้าใจว่าเด็กอยู่ในวัยรุ่นเป็นวัยที่มองเพศตรงข้าม ธรรมชาติสั่งให้หญิงชายวิ่งเข้าหากัน การที่เด็กไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนให้เข้าใจธรรมชาติ เค้าก็ปล่อยทุกอย่างไปตามธรรมชาติเรียกร้องเช่นกัน ผลก็คือ อัตราการมีบุตรของเด็กวัยรุ่นแซงหน้าผู้ใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว

เด็กบางคนไม่ได้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงตั้งแต่ต้น แต่ก็อาจจะมีปัญหาได้เช่นกัน สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเอื้ออำนวยให้มีความเสี่ยงมากขึ้น

ยุคนี้ เด็กทำการบ้านโดยใช้อินเตอร์เน็ต การค้นหาคำว่า "กติกาตะกร้อ" เพื่อทำรายงานส่งครู ก็นำไปสู่เว็บไซต์ที่พูดถึงการเล่นตะกร้ออยู่ 5% ของหน้า ที่เหลือเป็นรูปหญิงชายในท่าทางต่างๆ ที่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังอยากรู้ว่าคลิกเข้าไปแล้วจะเจออะไร พ่อแม่ยุคใหม่ก็แสนใจดี มีทั้งทีวีและคอมพิวเตอร์แถมอินเตอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง วางไว้พร้อมในห้องนอนของลูก

สิ่งแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงไม่ว่าที่บ้านหรือที่โรงเรียน ล้วนเป็นการสร้างโดยผู้ใหญ่ทั้งสิ้น

จากการสัมภาษณ์โรงพยาบาลของรัฐจำนวน 20 แห่งทุกภาคของประเทศ เราพบว่า การตั้งครรภ์และคลอดบุตรของวัยรุ่นนั้นมีฤดูกาล ไม่เหมือนกับฤดูกาลวางไข่ของปลา แต่เป็นฤดูกาลที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ฤดูกาลของการตั้งครรภ์จะเริ่มรอบประมาณช่วงลอยกระทง วันขึ้นปีใหม่ ต่อมาถึงวันวาเลนไทน์ ทำให้การคลอดบุตรของเด็กวัยรุ่นจะชุกมากช่วงตั้งแต่กันยายนถึงปลายปี ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่สถานสงเคราะห์เด็กต้องรับเด็กถูกทอดทิ้งจำนวนมากเช่นกัน

การป้องกันคงไม่ใช่การห้ามเด็กวัยรุ่นออกจากบ้านไปเที่ยว แต่ต้องให้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของร่างกาย การให้กำเนิดโดยที่ยังไม่พร้อม พาไปดูเด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง ชี้ให้เห็นปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา ข้อมูลเหล่านี้ควรอยู่ในหัวเด็กเพื่อให้เกิดการยั้งคิดก่อนที่จะสร้างปัญหาต่ออนาคตตนเองและผู้อื่น

จากการสัมภาษณ์ยังพบว่า เด็กวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่มคือ เด็กที่อยู่ในอำเภอที่ติดต่อกับหัวเมืองใหญ่ เช่น ตัวเมืองเชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี เป็นต้น เด็กนอกอำเภอเมืองมักจะเข้ามาศึกษาต่อระดับมัธยมในตัวเมืองใหญ่ บางคนไปเช้ากลับเย็น แต่ก็มีจำนวนมากที่มาอยู่หอพัก ความอิสระในการเดินทางไปไหนมาไหน การใช้เวลาเข้าเรียนแบบอิสระ พ่อแม่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ทำให้สิ่งเร้าเข้ามารบกวนได้ง่ายยิ่งนัก

พ่อแม่บางคนอาจจะบอกว่า ตนโชคดีที่มีลูกชายไม่ต้องกลัวตั้งครรภ์ การคิดเช่นนั้นเป็นการปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม วัยรุ่นชายมีโอกาสติดเชื้อ HIV ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

ปัญหาเหล่านี้เป็นความล้มเหลวในการทำงานเชิงรุกของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปล่อยให้วัยรุ่นมีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 โดยไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง ที่ผ่านเรามัวแต่ทะเลาะกันว่าการให้ความรู้เพศศึกษาเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ในขณะที่กระรอกเกือบทุกตัวต่างก็วิ่งเข้าโพรงกันสนุกสนาน โดยหลอกให้คนชี้นั้นชี้ไปทางอื่น เด็กต่างก็มีจิตวิทยาตามประสาเด็ก เค้ารู้ว่าผู้ใหญ่ฟังเรื่องอะไรได้ และฟังเรื่องอะไรไม่ได้ เด็กเลือกสาระที่จะสื่อสารให้ผู้ใหญ่รับรู้แล้วมีความสุข

ถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนมัธยมควรจะเป็นศูนย์กลางที่ให้พ่อแม่ได้มีโอกาสเรียนเรื่องเพศศึกษาไปพร้อมๆ กับเด็ก โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ให้ความรู้ และมีโอกาสเรียนรู้การสร้างครอบครัวอบอุ่นโดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ให้ความรู้

แต่ด้วยการที่ราชการแบบไทยๆ ทำงานใครงานมัน กระทรวงใครกระทรวงมัน จึงทำให้โอกาสการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นเป็นไปได้ยากนัก


-------------------------------------
วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 16:31:59 น.  มติชนออนไลน์