Author Topic: ปิดตำนานบริการโทรเลข  (Read 11154 times)

ครูประสิทธิ์

  • Administrator
  • Full Member
  • *****
  • Posts: 128
    • View Profile
ถึงเวลาเกษียณรหัส ''มอร์ส''


30 เม.ย. 2551 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะยกเลิกการให้บริการโทรเลขอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ !!! ปิดตำนานบริการโทรเลขที่ให้บริการมากว่า 133 ปี (พ.ศ. 2418-พ.ศ. 2551)
 
สาเหตุก็เพราะทนแบกรับค่าใช้จ่ายเดือนละ 25 ล้านบาท เพื่อจ้างบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้เป็นผู้ให้บริการไม่ไหว ทั้งเป็นกิจการที่ไม่ทำกำไรและมีผู้ใช้บริการโทรเลขลดลงอย่างต่อเนื่อง
 
โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริการโทรเลขเคยมียอดผู้ใช้สูงสุดอยู่ที่ปีละ 3 ล้านฉบับ หรือเฉลี่ยเดือนละ 2.5 แสนฉบับ แต่ปัจจุบันมียอดใช้งานวันละไม่ถึง 100 ฉบับ หรือประมาณปีละ 4,000 ฉบับ และมีรายได้เพียงเดือนละ 5,000 บาท  โดยข้อความในโทรเลขส่วนใหญ่เป็นจดหมายทวงหนี้!
 
นายขจรศักดิ์ สิงหเสนี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (สายงานกลยุทธ์องค์กร) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ไม่มีบริษัทผลิตเครื่องโทรเลขเพื่อใช้งานแล้ว ดังนั้นประเทศไทยจึงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พีซีแทนเครื่องโทรเลข โดยเขียนโปรแกรมให้ทำหน้าที่เหมือนโทรเลข โดยเครื่องโทรเลขที่ยังเหลืออยู่อาจส่งขายต่อให้กับประเทศที่ยังเปิดให้บริการโทรเลข อาทิ ซาอุดีอาระเบีย และ มาเลเซีย

กำเนิดโทรเลขในประเทศไทย
 
สำหรับสังคมไทยรู้จักโทรเลขในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงมีพระราชดำริให้จัดทำไปรษณีย์ขึ้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่าง วงศ์ ร่วมกับเจ้าหมื่นเสมอใจราช เตรียมการต่าง ๆ เพื่อเปิดทำการไปรษณีย์
 
โดยโทรเลขถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2418 จากการที่รัฐบาลไทยมอบหมายให้กรมกลาโหมสร้าง ทางสายโทรเลขสายแรก จากกรุงเทพฯ ไปปากน้ำ (จ.สมุทรปราการ) 
 
กระทั่งปี พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมโทรเลขขึ้นเพื่อรับช่วงงานโทรเลขต่อจากกรมกลาโหม ซึ่งกิจการโทรเลขในประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นอย่างเป็นลำดับ
 
จนเข้าสู่ยุควิทยุโทรเลขในประเทศไทย ซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยจอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารเรือและได้มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุโทรเลขแบบมาร์โคนีใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 โดยวิทยาการด้านวิทยุรู้จักแพร่หลายมากขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยุโทรเลข พ.ศ. 2457 โดยกำหนดให้กรมไปรษณีย์โทรเลขมีอำนาจหน้าที่ในการตั้งเครื่องและใช้วิทยุโทรเลข วิทยุโทรศัพท์ในประเทศไทย และให้ข้าราชการทหารเรือทำความตกลงกับกรมไปรษณีย์โทรเลขให้ประชาชนใช้วิทยุโทรเลขได้
 
ปี พ.ศ. 2471 กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลขเปิดการสื่อสารทางวิทยุโทรเลขโดยตรงกับทวีปยุโรป โดยติดต่อกับกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถส่งข่าวสารทางโทรเลขกับต่างประเทศด้วยคลื่นวิทยุ โดยไม่ต้องอาศัยประเทศต่าง ๆ ให้ช่วยถ่ายทอดโทรเลขอีกต่อหนึ่ง
 
เดิมนั้นการส่งโทรเลขจากประเทศไทยไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปต้องอาศัยส่งผ่านทางสายโทรเลข ของต่างประเทศ เช่น จากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่ เข้าประเทศมาเลเซีย ซึ่งอังกฤษปกครอง หรือ จากกรุงเทพฯ ผ่านแม่สอดเข้าประเทศพม่า ซึ่งทำให้เสียเวลาและล่าช้ามาก
 
สำหรับการเปิดการสื่อสารทางวิทยุโทรเลขกับต่างประเทศครั้งแรกโดยไม่ต้องผ่านประเทศอื่น ๆ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงกระทำพิธีเปิด
 
ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2490-2496 กรมไปรษณีย์โทรเลขเปิดการติดต่อทางวิทยุโทรเลขกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ได้แก่ เวียดนาม, ไต้หวัน, อินเดีย, ญี่ปุ่น และเดนมาร์ก
 
ในปี พ.ศ. 2496 นายสมาน    บุณยรัตพันธ์ นายช่างโทรเลขของไทยได้คิดค้นเครื่องโทรพิมพ์ภาษาไทยได้สำเร็จ โดยคิดระบบกลไก (SPACING CONTROL MECHANISM) ต่อมาได้ผลิตเครื่องโทรพิมพ์ทำงานได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเครื่องเดียว โดยใช้ชื่อว่า “เครื่อง โทรพิมพ์ไทยแบบ S.P.”
 
กรมไปรษณีย์โทรเลขได้รับรองเครื่องพิมพ์ไทยแบบ S.P. ในปี พ.ศ. 2498 และเริ่มสั่งสร้างเครื่องโทรพิมพ์ไทยจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาใช้งานรับ-ส่งโทรเลขเป็นรุ่นแรก ระหว่างกรุงเทพฯ-นครสวรรค์, กรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์-เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2500 ซึ่งต่อมาได้ขยายการรับ-ส่งโทรเลขโดยใช้เครื่องโทรพิมพ์ออกไปทั่วประ เทศ
 
อุปกรณ์โทรเลขต่าง ๆ ได้ดำเนินการติดตั้งปี พ.ศ. 2504 และเปิดรับ-ส่งใช้งานโทรเลขติดต่อกับต่างประเทศด้วยวงจร HF 1 ARQ เป็นต้นมา โดยเริ่มทำการติดต่อกับโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เป็นวงจรแรก
 
พ.ศ. 2520 กรมไปรษณีย์โทร เลขได้โอนส่วนปฏิบัติการบริการโทรคมนาคมของประเทศไปอยู่ในความรับผิดชอบของการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นผลให้การให้บริการขยายตัวออกไปอย่าง กว้างขวาง
 
การสื่อสารแห่งประเทศไทยได้ทำการปรับปรุงและเปลี่ยนระบบการรับ-ส่งโทรเลขในประเทศ และระหว่างประเทศจากระบบ MANUAL มาเป็นระบบถ่ายทอดโทรเลขแบบอัตโนมัติ โดยในวันที่ 20 พ.ย. 2521 ได้ทำการขยายการติดต่อโทรเลขระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด จำนวน 80 แห่ง พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดโทรเลขย่อยในระบบ TORN TAPE ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข 7 แห่ง ต่อมาได้จัดตั้งชุมสายโทรเลขอัตโนมัติเพิ่มขึ้นในส่วนภูมิภาคอีก 3 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับ-ส่ง โทรเลข
 
โดยกำหนดให้ชุมสายที่หาดใหญ่เป็นศูนย์ถ่ายทอดโทรเลขภาคใต้ ขอนแก่นเป็นศูนย์ถ่ายทอดโทรเลขภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนครสวรรค์เป็นศูนย์ถ่ายทอดโทรเลขภาคเหนือ ซึ่งชุมสาย อัตโนมัติทั้ง 4 แห่ง รวมทั้งกรุงเทพฯ และบางรัก สามารถติดต่อกันด้วยระบบสื่อสารทางดาวเทียมและทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2531 ซึ่งเป็นผลให้การรับ-ส่ง โทรเลขรวดเร็วยิ่งขึ้น

ความหมายของโทรเลข
 
โทรเลข (Telegraph Service)  คือ ระบบโทรคมนาคมซึ่งใช้อุปกรณ์ทางไฟฟ้าทำหน้าที่ส่งข้อความจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เดิมส่งโดยอาศัยสายตัวนำที่โยงติดต่อถึงกัน และอาศัยอำนาจแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสำคัญ แต่ระยะหลังมีการใช้วิธีการส่งไร้สายหรือที่รู้จักกันในชื่อ “วิทยุโทรเลข” (Radio Telegraph, Wireless Telegraph หรือ Continuous Wave หรือ CW)
 
ทั้งนี้ โทรเลขเป็นบริการรับ-ส่ง ข่าวสารที่จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อกันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้ประสงค์จะใช้โทรสารต้องมาใช้บริการ ณ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขเท่านั้น เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ฝากส่งจะขอส่งโทรเลขทางเทเล็กซ์ หรือ โทรศัพท์

หลักการทำงาน

ของเครื่องโทรเลข
 
การทำงานของเครื่องส่ง และเครื่องรับโทรเลข เกิดจากคันเคาะของเครื่องส่งให้วงจรไฟฟ้าปิด จากนั้นกระแสไฟจะไหลเข้าไปในขดลวดของเครื่องรับ ทำให้ขดลวดของเครื่องรับเกิดสนามแม่เหล็ก และดูดแผ่นเหล็กมากระทบแกนเหล็ก ทำให้เกิดเสียงที่มีจังหวะเดียวกับคันเคาะ ซึ่งการเปิด-ปิด วงจรนี้ทำให้เกิดเสียงเป็นสัญญาณโทรเลข แล้วจึงแปลงสัญญาณโทรเลขให้เป็นข้อความ โดยมีการกำหนดรหัสในโทรเลขไว้ 2 ลักษณะ คือ เคาะแล้วกดไว้ (กดยาว) กับ เคาะแล้วปล่อย (กดสั้น) ซึ่งแทนด้วย - กับ  .   ( ขีด กับ จุด ) เรียกรหัสที่ใช้ในการส่งโทรเลขว่ารหัส      “มอร์ส”
 
สำหรับเครื่องรับ-ส่ง โทรเลขประกอบด้วย แบตเตอรี่, คันเคาะ หรือเครื่องส่ง, เครื่องรับ และสายไฟ
 
โดยมีการให้บริการโทรเลขในประเทศ 7 ชนิด ภายใต้ข้อบังคับของการสื่อสารฯ ในขณะนั้น ได้แก่ โทรเลขแจ้งเหตุสาธารณภัย, โทรเลขรัฐบาล, โทรเลขบริการ, โทรเลขอุตุนิยมวิทยา, โทรเลขสามัญ, โทรเลขข่าวหนังสือพิมพ์ และโทรเลขร้องทุกข์ ส่วนการใช้บริการโทรเลขในประเทศสำหรับประชาชนทั่วไปมี 2 ชนิด คือ โทรเลขบริการ (โทรเลขบริการเสียเงิน) และโทรเลขสามัญ คือโทรเลขที่รับ-ส่ง ไปมาเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว
 
ขณะที่การให้บริการโทรเลขต่างประเทศมี 8 ชนิด โดยเพิ่มโทรเลขเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งได้รับความคุ้มครองในระหว่างสงคราม ตามอนุสัญญาเจนีวา (ลงวันที่ 14 ส.ค. 2492) และโทรเลขสาร โดยไม่มีโทรเลขร้องทุกข์ ส่วนการให้บริการโทรเลขต่างประเทศสำหรับประชาชนทั่วไปมี 3 ชนิด คือ โทรเลขสามัญ, โทรเลขบริการ และโทรเลขสาร


ข่าวจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์เว็บ
วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551