Author Topic: สพฐ.สรุปแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 261 เขต  (Read 14100 times)

ครูประสิทธิ์

  • Administrator
  • Full Member
  • *****
  • Posts: 128
    • View Profile
สพฐ.สรุปแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 261 เขต


     เมื่อวันที่ 24 ม.ค.55 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ว่าที่ประชุมได้หารือถึงข้อเสนอของการปรับปรุงเขตพื้นที่การศึกษาใหม่ หลังจากที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รมว.ศึกษาธิการ ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใหม่ ยึดเขตจังหวัด ในขณะที่เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา สพฐ.ได้จัดประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาได้เป็นข้อสรุปเบื้องต้นว่า จำนวนเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จะมีจำนวนรวม 261 เขต แบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ 78 เขต จังหวัดละ 1 เขต ยกเว้นกรุงเทพฯ ที่มี 2 เขตตามเดิม ส่วนเขตพื้นที่การศึกษาประถมฯ มี 183 เขต ตามเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งจำนวนเขตพื้นที่การศึกษาดังกล่าวเป็นข้อเสนอ ณ ขณะนี้  

     สำหรับขั้นตอนต่อไป ทางสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ.จะต้องไปจัดทำกรอบอัตรากำลัง ตามขนาดของเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาฯ และมัธยมฯ ใหม่ และทำแผนการบริการจัดในช่วงเปลี่ยนผ่านให้มีความชัดเจนก่อน เพราะหากมีแต่ตัวเลขแล้วเสนอเพื่อให้ ศธ.ให้เห็นชอบออกเป็นประกาศศธ.แล้วอาจจะเป็นกรอบอัตรากำลังที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จนทำให้เกิดปัญหาได้ ฉะนั้น สพฐ.จะต้องมีความชัดเจนในแผนบริการจัดการ กรอบอัตรากำลัง การกระจายบุคลากร หรือในเขตพื้นที่การศึกษา ที่อัตรากำลังไม่พอก็จำเป็นต้องมีตัวช่วยเพิ่มเติม เช่น มีครูอัตราจ้างเข้ามาช่วย

     เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า สำหรับเขตพื้นที่การศึกษาที่มีพื้นที่กว้างขวาง เช่น เขตพื้นที่การศึกษาประถมฯใน จ.ร้อยเอ็ด และ จ.สุรินทร์ ไม่มีปัญหาที่จะขอเพิ่มเขต เพียงแต่จะต้องให้มีหน่วยบริการในระดับอำเภอเข้าช่วย ซึ่งเขตพื้นที่อาจจะเสนอขอมีหน่วยบริการระดับอำเภอเข้ามาให้ สพฐ.พิจารณาได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดสรรอัตรากำลังของเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ ที่เพิ่มขึ้นมานั้น จะต้องรอการจัดกรอบอัตรากำลังใหม่ทั้งหมดของเขตพื้นที่การศึกษาประถมฯ และมัธยมศึกษาก่อน ซึ่งหากเขตพื้นที่การศึกษาประถมฯ ใดมีอัตรากำลังเกิน ก็อาจต้องเกลี่ยอัตรากำลังมายังเขตพื้นที่การศึกษามัธยมฯ ที่จะจัดตั้งมาใหม่ เพราะการปรับปรุงเขตพื้นที่การศึกษาครั้งนี้อยู่ในเงื่อนไขที่ว่าจะต้องไม่มีการเพิ่มคนขึ้นมาใหม่

ที่มา หนังสือพิมพ์สยามรัฐ