Author Topic: ความเป็นครูกับเงินเดือนครู  (Read 10174 times)

ครูประสิทธิ์

  • Administrator
  • Full Member
  • *****
  • Posts: 128
    • View Profile
ความเป็นครูกับเงินเดือนครู

ครูที่เป็นข้าราชการได้รับเงินเดือนตามอัตราข้าราชการเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป ...มีสวัสดิการของการเป็นข้าราชการตามกฎหมาย ...แต่ครูกลับมีข่าวว่ามีปัญหาหนี้สินมาก หรือเป็นเพราะมีข้าราชการครูจำนวนมาก หรือ ครูใช้จ่ายมากเกินรายได้ หรือ ครูได้เฉพาะเงินเดือนไม่มีรายได้พิเศษจากการทำงานเป็นครูเหมือนข้าราชการอื่นๆ หรือ คำตอบทั้งหมดถูกต้อง...แล้วครูควรมีบัญชีเงินเดือนโดยเฉพาะหรือไม่...

อาชีพครูในสังคมไทย

"ครู" เป็นอาชีพหนึ่งในสังคมไทยที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "พ่อพิมพ์/แม่พิมพ์ของชาติ" "พ่อ/แม่คนที่สอง" "ผู้ให้อนาคต" และให้เป็น "เรือจ้าง" ด้วยเช่นกัน การยกย่องให้เป็น "คุณครู" ในสังคมไทยเป็นความภูมิใจของคนเป็นครู แต่ศักดิ์ศรีและความภูมิใจของความเป็นครูลดลงและตกต่ำมาเป็นลำดับตั้งแต่วิทยาลัยครูเริ่มเปิดรับนักศึกษาครูภาคค่ำและเร่งรัดผลิตครูออกมาจำนวนมากเมื่อประมาณเกือบ 40 ปี เป็นต้นมาโดยทำการผลิตทั้งกลางวัน กลางคืน ไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ คนที่ไม่รู้จะเรียนอะไรดีก็จะไปเรียนครูเพราะมีโอกาสได้เรียนและได้งานมากกว่า จึงได้คนส่วนหนึ่งที่ไม่เก่ง รสนิยมไม่ดี ไม่รักอาชีพครูแต่ต้องมาเป็นครู คนรุ่นใหม่เลยไม่ต้องการเป็นครูเพราะครูมีแต่ภาพของความยากจน ท่าทางเชยๆ ไม่ทันสมัย รสนิยมไม่ดี ทำงานหนัก อยูในที่ห่างไกลความเจริญ ภาพของ "ครูบ้านนอก" จึงเป็นตัวแทนของความเป็นครูที่ไม่มีอำนาจบารมี หรือพระเดช มีแต่พระคุณบ้างเล็กๆ น้อย กับเด็กเล็กๆ และในอดีตที่ผ่านครูก็เป็นฐานอำนาจทางการเมือง ถูกจับเปลี่ยนสถานภาพและสังกัดหลายครั้งหลายหนมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่หลุดพ้นจากการเป็นฐานอำนาจของการเมือง

"ครู" ที่กล่าวถึงในที่นี้หมายถึง "ข้าราชการครู" ที่ทำการสอนในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาครูโดยการจัดองค์กรการบริหารใหม่ มีการกระจายอำนาจ เพิ่มวิทยฐานะ เพิ่มคุณวุฒิ ซึ่งผลที่ได้คือ มีครูและบุคลากรการศึกษาที่มีตำแหน่งราชการสูงขึ้น หรือ ซี สูงขึ้น การมีรายได้เพิ่มขึ้นจากคุณวุฒิที่สูงขึ้น กำหนดตำแหน่งให้สูงขึ้น (เช่น โรงเรียนมีนักเรียนไม่ถึง 100 คน มีครูไม่ถึง 10 คน แต่มีผู้อำนวยการระดับ 9) หรือ การที่ครูมีวิทยฐานะที่สูงขึ้นนั้น นักบริหารการศึกษาเมืองไทยคิดว่าเป็นหนทางของการยกฐานะวิชาชีพครู ให้ครูมีรายได้เหมาะสมกับการเป็นครู มีชีวิตความเป็นอยู่สมฐานะของครูที่ลูกศิษย์จะให้ความเคารพนับถือหรือยกมือไหว้ด้วยความสนิทใจ และนอกจากนั้นยังมีแนวความคิดแยกเงินเดือนครูออกจากเงินเดือนข้าราชการอื่นๆ เหมือนกับข้าราชการกลุ่มพิเศษบางกลุ่มที่มีบัญชีหรืออัตราเงินเดือนโดยเฉพาะ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับอาชีพนั้นมากกว่าอาชีพอื่น เพราะอาจมีผลต่อการทำงานและการอยู่รอดของรัฐบาลได้ ส่วนครูเป็นอาชีพสุดท้ายที่รัฐบาลจะให้ความสนใจ เพราะมีจำนวนมาก ต้องใช้เงินมาก และการมีครูที่ไม่มีคุณภาพหรือสกัดกั้นความเจริญของครูสักระยะหนึ่งก็ไม่เห็นผลอะไรอย่างทันที เพราะผลนั้นจะเกิดขึ้นระยะยาว...ยาวมากจนคนที่กำหนดนโยบายนั้นอาจไม่มีชีวิตรอดูผลด้วยซ้ำ

ตัวอย่างปัญหา(เบาๆ) จากผลของนโยบายการศึกษาในอดีต

ปัญหาแรกคือ ในอดีตมีการรับนักศึกษาครูจำนวนมากโดยรับคนที่ไม่มีคุณภาพและใจรักที่จะมาเป็นครู แต่ต้องไปเรียนวิทยาลัยครูเพราะการเปิดรับจำนวนมากทำให้เข้าเรียนได้ง่าย จบแล้วมีโอกาสได้งานมาก ผลในปัจจุบันคือ เราได้ครูที่ไม่มีคุณภาพ และไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูเข้ามาเป็นครูมากกว่าที่ควรจะเป็น จึงมีปัญหาของครูในลักษณะต่างๆ ที่บั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นครู เช่นปัญหาทางเพศกับนักเรียน มีหนี้สินล้นพ้นตัว เบียดบังเวลาการสอน ไม่มีความแม่นยำทางวิชาการ ไม่สนใจการสอนและอบรมนักเรียนใฝ่อำนาจ นิยมการฉ้อฉลในรูปแบบต่างๆ เป็นต้นและคนที่กำหนดนโยบายนี้ก็เสียชีวิตไปเกือบหมดแล้วเช่นกัน ถ้าวิญญาณมีจริงได้โปรดรับรู้ผลเชิงลบเหล่านี้ด้วย

ปัญหาประการที่สอง การคลั่งชาติโดยไม่ส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษ (กลัวเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง) ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ครูภาษาอังกฤษไม่ได้รับการพัฒนา เอาครูที่ไม่ได้จบทางด้านภาษาอังกฤษมาสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน กำหนดให้วิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาเลือก ผลที่ปรากฎในปัจจุบันคือ คนไทยอ่อนภาษาอังกฤษ ขนาดจบปริญญาตรียังใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ ทั้งทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียน เป็นผลให้นักศึกษามหาวิทยาลัยไทยเสียโอกาสในการเรียนต่อระดับสูง หรือต้องเสียเงินมากกับการเรียนและสอบภาษาอังกฤษอีกหลายครั้ง รวมทั้งการเข้าถึงความรู้ที่ส่วนมากอยู่ในรูปภาษาอังกฤษเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่ลึกซึ้ง ทำให้รู้แบบงูๆ ปลาๆ หลังจากจบการศึกษาและมีตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบสูงเลยทำอะไรจึงผิดพลาดอยู่เสมอ...ประเทศไทยและคนไทยต้องรับเคราะห์กรรมหลายอย่างจากความรู้อย่างไม่ลึกซึ้ง...

ขณะที่ประเทศมาเลเซียไม่กลัวจะเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง (เพราะเขาเป็นมาแล้ว) เมื่อ20 ปีที่ผ่านมา ประเทศมาเลเซียส่งครูภาษาอังกฤษไปเรียนต่อต่างประเทศทั้งหมด แล้วกลับมาสอนนักเรียนมาเลเซีย ในปัจจุบันคนมาเลเซียพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนไทย ผลคือการติดต่อค้าขาย การลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การจัดประชุมฝึกอบรมต่างๆ ที่ความรู้อยู่ในรูปของภาษาอังกฤษจึงถูกถ่ายทอดไปมาเลเซียและพัฒนาประเทศเขาจากครั้งหนึ่งที่เคยล้าหลังประเทศไทยมาก กลับมาทัดเทียมกับไทยหรือบางอย่างก้าวหน้ากว่าไทยเสียอีก

การเพิ่มรายได้ให้ครู

การทำให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ กำหนดให้มีระยะเวลาของการเรียนยาวนานขึ้น มีการฝึกปฏิบัติในการเป็นครูก่อนที่จะจบการศึกษา มีการคัดเลือกและให้ทุนการศึกษาและประกันการมีงานทำให้กับผู้จบการศึกษาวิชาชีพครูและเมื่อบรรจุเข้ารับราชการก็มีอัตราเงินเดือนสูงกว่าผู้จบการศึกษาในสาขาวิชาอื่น เป็นการยกระดับของอาชีพครูให้ดูมีฐานะดีขึ้น เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการยกฐานะครู และใช้กระบวนการศึกษาฝึกอบรมที่นานกว่า และกระบวนการคัดเลือกคนที่จะมาเป็นครูที่อย่างเข้มข้น เป็นที่รู้ว่าเป็นโครงการสร้างครูพันธุ์ใหม่ในรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ที่ผู้จะเป็นครูต้องเรียน 5 ปีในมหาวิทยาลัย ได้รับทุนขณะเรียนด้วย และเมื่อจบการศึกษาได้บรรจุเกือบทุกคนเป็นตำแหน่ง "ครูผู้ช่วย" (จะครองตำแหน่งนี้อยู่ประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นจะก้าวหน้าไปตามสายวิชาชีพ) รับเงินเดือนๆ ละ 8,700 บาท ค่าครองชีพ อีก 1,500 บาท รวมเป็น 10,200 บาท ยังไม่หักรายการต่างๆ รายได้ขนาดนี้สำหรับการเริ่มต้นเป็นครูในสังคมไทย ถ้าอยู่ต่างจังหวัด และอยู่อย่างประหยัด ก็น่าจะเพียงพอ เพราะมีสวัดิการของการเป็นข้าราชการในการรักษาพยาบาลและสิทธิต่างๆ พอสมควรกับอนาคตที่เป็นงานมั่นคงและมีบำเหน็จบำนาญ

นอกจากนี้ยังมีเงินค่าตอบแทนของการทำผลงานทางวิชาการของครู/อาจารย์ เทียบเคียงกับระดับข้าราชการ เช่นระดับ 7 ระดับ 8 และระดับ 9 เป็นต้น ซึ่งมีระเบียบรองรับการจ่ายเงินตอบแทนให้ ถ้าครู/อาจารย์เหล่านั้นขยันที่จะทำผลงาน (ปัจจุบันนี้การกำหนดตำแหน่งและชื่อตำแหน่งของครูได้เปลี่ยนไปตามกฎหมายใหม่รวมทั้งการยกเลิกระบบ ซี แล้ว) ความหวังให้ครูพัฒนาวิชาชีพตนเองให้มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ อบรมบ่มนิสัยให้กับนักเรียนเป็นคนเก่งและเป็นพลเมืองดีของชาติ ด้วยการให้เงินค่าตอบแทนการทำผลงานทางวิชาการนี้ ทำให้ครูจำนวนหนึ่งได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ ถึงแม้จะมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ตามมามาก เช่น ครูเลยหันไปทำผลงานวิชาการไม่สนใจที่จะสอนนักเรียน ทำให้จุดประสงค์ของการพัฒนาครูเพื่อจะให้ส่งผลกับนักเรียนนั้นไม่บรรลุผล

ครูจำนวนหนึ่งไม่มีความถนัดในการทำผลงานตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่ต้องการมีตำหน่ง มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จึงยอมลงทุนทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการ เพราะจะทำให้ได้ทั้งตำแหน่งทางราชการที่สูงขึ้นหรือ ซี สูงขึ้น และเงินเพิ่มขึ้นด้วย ผลกระทบทางลบเช่นนี้เกิดขึ้นในวงกว้าง สร้างความเสื่อมเสียมาให้กับวิชาชีพครู และความเป็นครูอีกด้วย

การหารายได้ของครูกับศักดิ์ศรีของความเป็นครู

เมื่อครูจำนวนหนึ่งไม่สามารถอยู่ได้อย่างสมฐานะด้วยเงินเดือนของข้าราชการครู ที่ต้องรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นครูและความเป็นข้าราชการ ประกอบกับลักษณะอาชีพไม่เปิดโอกาสให้มีรายได้พิเศษเหมือนข้าราชการของกระทรวง กรม อื่นๆ ในจังหวัดเดียวกัน การเปรียบเทียบฐานะของข้าราชการต่างกรม ต่างกระทรวง ในจังหวัดเดียวกันเกิดขึ้นอยู่ในใจของข้าราชการครูเสมอ และครูจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในอาชีพของตน ขาดความภูมิใจ สาเหตุหนึ่งคือ ครูรู้ว่ารายได้ของอาชีพครูน้อยกว่าข้าราชการอาชีพอื่นทั้งๆ ที่ทำงานหนัก และรับผิดชอบสูง รวมทั้งครูบางคนมีระดับการศึกษาสูงกว่าด้วย สิ่งที่ยังคงทำให้ครูอดทนสู้อยู่ได้คือ "ความเป็นข้าราชการ" ซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ได้รับการรับรองตามกฎหมาย...ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถึงแม้จะได้รับการปฏิบัติจากข้าราชการต่างสังกัดด้วยกัน หรือจากสังคม ไม่เท่าเทียมกับข้าราชการของกระทรวง กรม อื่นก็ตาม...

ครูอีกพวกหนึ่งที่ไม่เป็นข้าราชการ เป็นอัตราจ้าง รัฐบาลไม่บรรจุให้ด้วยนโยบายของรัฐ เช่น ต้องการลดจำนวนข้าราชการ โดยใช้การจ้างครูมาสอน ครูกลุ่มนี้มีจำนวนมาก และมีอิทธิพลต่อการศึกษาของชาติ และพลเมืองของประเทศไม่แพ้ครูที่เป็นข้าราชการ เพราะเขาก็ทำงานเหมือนกับข้าราชการและส่วนมากถูกครูที่เป็นข้าราชการเอาเปรียบ แต่ต้องทนทำงานเพราะหวังว่าวันหนึ่งคงได้บรรจุเป็นข้าราชการ บางคนทนรอไม่ได้ก็ต้องออกไปทำอาชีพอื่น ครูอัตราจ้างเหล่านี้ไม่มีขวัญและกำลังใจ ไร้ศักดิ์ศรี ทำให้ขาดความเชื่อมั่น ไม่องอาจสมกับกับเป็นแม่พิมพ์ให้กับนักเรียน หรือไม่สามารถทำตัวเป็นแบบอย่างให้นักเรียนได้นักเรียนก็ไม่ให้ความเคารพนับถือยำเกรงเท่ากับครูที่เป็นข้าราชการ สิ่งเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดไปสู่นักเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนั้นครูเหล่านี้ ยังไม่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นในแต่ละปีที่ผ่านไป การใช้แนวทางการบริหารแบบนี้กับคนเป็นครู กับวิชาชีพครู เป็นการทำร้ายอาชีพครู ทำร้ายนักเรียน ทำร้ายพลเมืองในอนาตของประเทศ เป็นการเอาเปรียบครูอัตราจ้างอย่างมาก

การหารายได้พิเศษของครูจึงเป็นความจำเป็นต้องทำอาชีพเสริมต่างๆ รวมทั้งการสอนพิเศษ การเปิดติวข้อสอบ บางครั้งการหารายได้เสริมของครูหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม จรรยาบรรณของวิชาชีพครูอย่างมาก การกระทำเหล่านี้ล้วนบั่นทอนศักดิ์ศรีอาชีพครูและเกียรติภูมิของครูให้ตกต่ำลงไปอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ...แต่..ดูเหมือนว่าครูจำนวนหนึ่งให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นครูน้อยกว่าการมีเงินที่เพียงพอกับการใช้จ่ายในสังคมบริโภคนิยมในปัจจุบัน...


...แต่ครูต้องเป็นข้า ราชการ...และได้รับสิทธิและสวัสดิการของการเป็นข้าราชการเช่นเดียวกับข้า ราชการของกระทรวง กรม อื่นทั่วๆ ไป...การแยกบัญชีอัตราเงินเดือนครูจึงไม่มีความจำเป็น...ความรู้สึกของครู ที่เป็นข้าราชการนั้น สร้างให้เกิดอุดมการณ์การในการทำงาน...ไม่เพียงต้องการแค่เงินเดือน...แต่ เป็นความภูมิใจที่ได้ทำงานรับใช้พระเจ้าแผ่นดินด้วย...

...การใช้ แนวคิดของการบริหารจัดการเชิงธุรกิจมาจ้างครู ราคาถูกๆ หรือ "ครูอัตราจ้าง" เพื่อ ลดต้นทุน และไม่ต้องมีภาระทางงบประมาณนั้น ไม่ควรนำมาใช้กับระบบการศึกษา...เพราะการศึกษาเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของ ประเทศ...

...เงินเพิ่มพิเศษสำหรับครู ควรได้รับการพิจารณาอย่างยิ่ง...ความแตกต่างกันแต่ละพื้นที่ของค่าครองชีพ ความเสี่ยงภัย การเสียโอกาสของการได้รับบริการจากสาธารณะในพื้นที่ธุระกันดาร...เป็นการตอบ แทนให้กับอาชีพครู และ ความเป็นครู...

เงินเดือนครูในประเทศ ต่างๆ

เงินเดือนครูที่นำเสนอต่อไปนี้เป็นค่าเฉลี่ยโดยยังไม่รวม สวัสดิการและการหักภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามสภาพของสังคมในแต่ละประเทศ

เงิน เดือนครูในสหรัฐอเมริกา แต่ละมลรัฐไม่เท่ากัน แตกต่างกันตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละรัฐ แต่ค่าเฉลี่ย อยู่ที่ประมาณ 40, 000 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 1, 360, 000 บาทต่อปี หรือ ประมาณ 113, 000 บาทต่อเดือน (อัตรา 34 บาท ต่อ 1 เหรีญญสหรัฐ) อัตราเริ่มต้นต่ำสุดที่รัฐ Idaho เริ่มที่ 27, 500 เหรียญต่อปี

สำหรับประเทศ Australia เฉลี่ยประมาณ 41,104 สำหรับ เรียน 4 ปี และ 5 ปี เริ่มที่ 43, 225 เหรียญออสเตเลีย ต่อปี หรือประมาณ 1,150,000 บาทต่อปี (28บาทต่อ 1 เหรียญ) หรือ 95,000 บาทต่อเดือน

ประเทศ Canada เริ่มต้นที่ 28, 000 เหรียญคานาดา ต่อปี หรือ 840, 000 บาทต่อปี (30 บาทต่อ 1 เหรียญ) หรือ 70,000 บาทต่อเดือน

ประเทศ England and Wales เฉลี่ยประมาณ 30, 000 ปอนด์ ต่อปี หรือประมาณเป็นเงิน 1, 560, 000 บาทต่อปี (52 บาทต่อ ปอนด์) หรือ 130, 000 บาทต่อเดือน

ประเทศ South Africa เฉลี่ยประมาณ 115, 000 รูปี ต่อปี หรือ 322, 000 บาทต่อปี (2.80 บาท ต่อ 1 รูปี) หรือ 26, 800 บาทต่อเดือน

ประเทศ Japan เฉลี่ยประมาณ 156, 500 เยน ต่อเดือน (36 บาทต่อ 100 เยน) 56, 340 บาท ต่อเดือน

สำหรับประเทศไทย มีอัตราดังนี้ ครูผู้ช่วย ขั้นต่ำชั่วคราว 7,940 บาทต่อเดือน ขั้นต่ำ 8,700 บาท ขั้นสูง 16,840 บาท คศ.1 ขั้นต่ำชั่วคราว 8,130 บาท ขั้นต่ำ 11,930 บาท ขั้นสูง 29,700 บาท คศ.2 ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท ขั้นต่ำ 15,410 บาท ขั้นสูง 36,020 บาท คศ.3 ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท ขั้นต่ำ 18,910 บาท ขั้นสูง 50,550 บาท คศ.4 ขั้นต่ำ 23,230 บาท ขั้นสูง 59,770 บาท คศ.5 ขั้นต่ำ 28,550 บาท ขั้นสูง 66,480 บาท ส่วนร่างบัญชีอัตราเงินวิทยฐานะ จำแนกเป็นเงินวิทยฐานะตำแหน่งครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษารวมถึงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่ก.ค.ศ.กำหนด มีอัตราดังนี้ วิทยฐานะชำนาญการ 3,500 บาท วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท วิทยฐานะเชี่ยวชาญ 9,900 บาท และวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ 15,600 บาท

การ นำอัตราเงินเดือนของประเทศต่างมาให้พิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศไทยนั้น เพื่อให้เห็นภาพฐานะทางเศรษฐกิจ หรือรายได้ของอาชีพครูในประเทศต่างๆ ซึ่งการนำจำนวนเงินมาเปรียบเทียบกันตามอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเดียวนั้นคงไม่ สามารถบอกถึงระดับฐานะทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของครูได้อย่างถูกต้อง ปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นบริบทของสังคมแต่ละประเทศเป็นตัวแปรที่สำคัญ ตัวอย่างเช่นประเทศไทย ครูที่มีสถานภาพเป็นข้าราชการ มีสิทธิของข้าราชการ และสวัสดิการของข้าราชการไม่อาจคิดเป็นตัวเงินได้อย่างถูกต้อง เงินเดือนครูในประเทศไทยถึงแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ในความเป็นครูของสังคมไทย ถ้ามีความเป็นข้าราชการแล้ว อัตราเงินเดือนของครูที่เป็นข้าราชการน่าจะเพียงพอเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย โดยรวม...แต่ในบางพื้นที่ของประเทศไทยมีความแตกต่างกันในเรื่องของค่าครอง ชีพ ความเสี่ยงภัย การเสียโอกาสของการได้รับบริการจากสาธารณะเช่นในเมือง กับ ชนบท ในกรุงเทพฯ กับ ต่างจังหวัด..ในพื้นที่ธุระกันดาร เสี่ยงภัยต่างๆ ...เงินค่าครองชีพพิเศษสำหรับครูในแต่ละพื้นที่จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า การแยกบัญชีเงินเดือนออกจากบัญชีข้าราชการทั่วไป

ครูต้องเป็นข้า ราชการ

...แต่ครูต้องเป็นข้าราชการ...และได้รับสิทธิและ สวัสดิการของการเป็นข้าราชการอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับข้าราชการของกระทรวง กรม อื่นทั่วๆ ไปด้วย ความจำเป็นในการแยกอัตราเงินเดือนครูต่างหากจึงไม่มีความจำเป็น...กระทรวง ศึกษาธิการมีบุคคลากรผู้ที่ทำหน้าที่สอน หรือ เป็น "ครู" ที่นักเรียนและครูด้วยกันที่เป็นข้าราชการไม่ค่อยจะยอมรับว่าเป็นครูเพราะ เป็น "ครูอัตราจ้าง"... กระทรวงศึกษาธิการต้องบรรจุครูอัตราจ้างเหล่านั้นให้เป็นข้าราชให้หมดอย่าง รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อทำให้ "ครูอัตราจ้าง" ที่ไม่มีสถานภาพของ "ความเป็นครู" อย่างสมภาคภูมินั้นมีสถานภาพของข้าราชการ จะทำให้ขวัญและกำลังใจของเขาเหล่านั้นดีขึ้นและทำหน้าที่ครูที่ดีได้อย่าง ภาคภูมิ เพราะสถานภาพทางสังคมดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการอื่นๆ

ความรู้สึกของครู ที่เป็นข้าราชการนั้น เป็นความภูมิใจที่ได้ทำงานรับใช้พระเจ้าแผ่นดินด้วย ความรู้สึกจงรักภัคดีจะถูกถ่ายทอดไปยังลูกศิษย์โดยตรง และความมั่นคงของประเทศฝากไว้กับเยาวชนเหล่านั้นสิ่งที่น่ากังวลอย่างหนึ่ง ในระยะยาว คือ การที่มหาวิทยาลัยในอนาคตของไทยนั้น อาจารย์และเจ้าหน้าที่ไม่เป็นข้าราชการอีกต่อไป เพราะจะไม่บรรจุข้าราชการในมหาวิทยาลัยอีก จะมีแต่พนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการที่เหลืออยู่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก บางแห่งถูกจำกัดสิทธิการเป็นผู้บริหาร ความรู้สึกเหินห่างกับกับการรับใช้พระเจ้าแผ่นดินอาจเกิดขึ้นและถูกถ่ายทอด ไปยังลูกศิษย์ ความเป็นครู/อาจารย์ในอุดมคติที่เคยเป็นอยู่ กลายเป็นผู้สอน ที่รับจ้างสอน รับจ้างทำงานวิจัย ผลิตผลงาน ไม่รับคุณค่าของความเป็นข้าราชการมาเป็นอุดมการณ์ในการทำงาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นคงอีกนาน คนที่เป็นตัวการเรื่องนี้คงไม่มีชีวิตอยู่รอดูผลงานของตัวเองอีกเช่นกัน แต่ลูกหลานจะต้องรับผลกับสังคมใหม่อย่างแน่นอน อย่างน้อยในระดับการศึกษาพื้นฐานที่ "คุณครู" ทั้งหลายรับผิดชอบอยู่ ต้องรับภารกิจของความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็น ประมุขไปด้วย

การที่มี "ครูอัตราจ้าง" นั่นแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการครูหรือครูอยู่ในภาวะขาดแคลน จึงต้องจ้างมาสอน แต่การจ้างคนมาสอน มาทำหน้าที่ของครู และรับผิดชอบกับความเป็นครูของเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาตินั้นมีความเสี่ยง มากถ้าได้คนที่ไม่รับผิดชอบ ไม่มีความรักและความผูกพันกับอาชีพครู ความเป็นครูต้องมีความรับผิดชอบสังคมไทยในอนาคต การใช้แนวคิดของการบริหารจัดการเชิงธุรกิจมาจ้างครู ราคาถูกๆ เพื่อลดต้นทุนและไม่ต้องมีภาระทางงบประมาณ ใช้ไม่ได้ผลดีกับการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นความมั่นคงของประเทศ เช่นเดียวกับ ทหาร ตำรวจ ซึ่งในอดีตนั้น การผลิตครูเป็นหน้าที่ของรัฐบาล สถานศึกษาของรัฐบาลเท่านั้นที่สามารถเปิดสอนและผลิตครูได้ เพิ่งมาอนุญาติให้สถานศึกษาเอกชนสามารถผลิตครูได้เมื่อไม่นานมานี้เอง การทบทวนให้สถานศึกษาของรัฐเท่านั้นที่จะสามารถผลิตครูและบุคคลากรทางการ ศึกษาได้จึงน่าจะมีการพิจารณา...

แต่อย่างไรก็ตาม เงินเพิ่มพิเศษสำหรับครู ซึ่งไม่ใช่บัญชีเงินเดือนนั้นควรได้รับการพิจารณาอย่างยิ่ง เป็นการเพิ่มรายได้ให้สมกับอาชีพครูโดยเฉพาะ นอกจากเงินอื่นๆ ที่ข้าราชการจะได้รับอยู่แล้ว โดยพิจารณาใด้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ครูสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติ นอกจากนี้การบริหารจัดการเรื่องของการช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย พาหนะ เงินออม หรือระบบสหกรณ์ครูที่ดำเนินการอยู่ให้ขยายการบริการให้กว้างขวางขึ้น การดำเนินการเรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา ทั้งเริ่มต้นคิด สนับสนุน ผลักดัน และทำให้สำเร็จ

ค่านิยมใหม่ของครู

การ เรียกร้องให้เพิ่มเงินเดือนและรายได้ครู หรือการแยกบัญชีเงินเดือนครูออกจากบัญชีเงินเดือนข้าราชการทั่วไปมีความ พยายามมายาวนาน แต่ข้าราชการสังกัดกระทรวงอื่นบางกลุ่มสามารถมีบัญชีเงินเดือนแยกออกต่างหาก ให้ปรากฎเห็นเป็นตัวอย่างได้ ทำให้ครูเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะทุกวิชาชีพและสาขาอาชีพที่เป็นข้าราชการนั้นมีความสำคัญต่อชาติบ้าน เมืองทั้งสิ้น

นอกจากนั้นทุกสาขาวิชาอาชีพในระบบราชการนั้นล้วนต้อง ผ่านการเรียนการสอนของครูมาทั้งสิ้น แต่คนเป็นครูของอาชีพเหล่านั้นมีฐานะทางสังคมและได้เงินเดือนด้อยกว่าศิษย์ ของตัวเอง แถมยังถูกเปรียบเปรยให้เหมือน "เรือจ้าง" หรือ ต้องการให้เป็นผู้เสียสละให้กับสังคม การสะท้อนภาพพจน์ของครูทั้งในรูปของ ภาพยนตร์ เพลง ละคร ล้วนสร้างภาพความต้อยต่ำให้กับครูเป็นส่วนมากส่วนการยกย่องครูที่มีอยู่บ้าง เช่น "วันครู" พิธีการไหว้ครู เป็นการแสดงมุทิตาจิต (เท่านั้น) บางครั้งสร้างความขัดเขินให้กับครูด้วยซ้ำ

ค่านิยมใหม่ที่ครูพันธุ์ ใหม่ต้องทำให้เกิดขึ้น และระบบของการบริหารจัดการอาชีพครูและความเป็นครูต้องเอื้อให้การยกฐานะของ อาชีพครูเป็นอาชีพที่สามารถทำให้ครูมีความเป็นอยู่ที่สมฐานะในสังคม...

การ สร้างภาพลักษณ์ของครู และ พัฒนาฐานะความเป็นอยู่ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นครูนั้นเป็นความรับผิดชอบของ ตัวครูเอง จะให้ผู้อื่นมาสร้างให้หรือทำให้ไม่ได้ "คุณครู" วันนี้จึงต้องพร้อมสำหรับการพัฒนา พร้อมจะเป็น "คุณครู" สำหรับโลกใหม่

คุณ ครูทั้งหลายต้องพยายามเข้าใจผู้อื่น อาชีพอื่น และสรรพสิ่งรอบๆ ตัวด้วย จะทำให้โลกของครูกว้างขึ้น แต่ถ้าคุณครูไม่พยายามเข้าใจผู้อื่น ไม่สนใจอาชีพอื่น และไม่สนใจสรรพสิ่งรอบๆ ตัว มัวแต่สนใจแต่ตัวเองหาเหตุผลให้กับตัวเอง ทำความเข้าใจเฉพาะตัวเองโลกของครูจะแคบลงๆ แคบลงจนเหลือแต่เพียงในห้องเรียนที่ตนเองสอนเท่านั้น

---------------
รอง ศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
8 กุมภาพันธ์ 2553
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/edu/62263 | http://www.thairath.co.th/content/edu/63645